วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ขมิ้นชัน

ประโยชน์และสรรพคุณขมิ้นชัน ฉบับชาวบ้าน


จากผลการทดลองและงานวิจัยเกี่ยวกับขมิ้นชันจากทั่วโลก พบว่า สมุนไพรขมิ้นชันมีสรรพคุณและมีประโยชน์ในทางการรักษาโรคให้กับผู้ป่วยในหลายด้าน โดยเฉพาะในประเทศไทย ได้เริ่มมีการนำขมิ้นชันมาแปรรูปเป็นขมิ้นชันแคปซูลและใช้รักษาโรคกันอย่างแพร่หลายและจริงจัง ผมจึงคิดว่า เราน่าจะรวบรวมสรรพคุณของขมิ้นชันเอาไว้เป็นบทความสักบทความ ไว้ให้ผู้ที่มีความสนใจได้ศึกษา เพราะถึงแม้ว่าสรรพคุณขมิ้นชันจะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นบทความอยู่หลายบทความ แต่ยังขาดเรื่องความสมบูรณ์และการเรียงลำดับเนื้อหาให้เข้าใจง่าย ดังนั้น ผมจึงได้รวบรวมและสรุปสรรพคุณขมิ้นชัน ที่ผู้ใช้ควรทราบจากแหล่งที่เชื่อถือได้มาให้ได้อ่านกัน

ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma longa Linn., Curcuma domestica Valeton.
ชื่อวงศ์ : Zingiberaceae
ชื่ออังกฤษ : Turmeric
ชื่อท้องถิ่น : ขมิ้นแกง, ขมิ้นชัน, ขมิ้นหยอก, ขมิ้นหัว, ขี้มิ้น, ตายอ, สะยอ, หมิ้น

ประโยชน์และสรรพคุณขมิ้นชัน (สรุปจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์)

1. ต้านการเกิดแผลและสมานแผลในกระเพาะอาหาร
ขมิ้นชันมันมีสรรพคุณในการสมานแผล ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น โดยเร่งการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อที่เป็นแผล น้ำมันหอมระเหยของขมิ้นชัน นอกจากช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารแล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร โดยการกระตุ้น mucin มาเคลือบกระเพาะอาหารและยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยชนิดต่างๆได้ และได้มีการทดลองใช้ขมิ้นชันในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร เทียบกับการใช้ยาแผนปัจจุบันที่มีชื่อว่า ไตรซิลิเกต ได้ผลเป็นดังตาราง
ตาราง
จากตารางพอจะสรุปได้ว่า ขมิ้นชันมีสรรพคุณในการรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้จริง! และได้ผลดีกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบันอีกด้วย
2. ลดการอักเสบ
มีผลการทดลองว่า ผงแห้ง น้ำคั้นและสารสกัดชนิดต่างๆมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบในร่างกายทุกชนิด และสารสำคัญในการออกฤทธิ์ลดการอักเสบ คือ สารที่มีชื่อว่า curcumin และเมื่อนำไปเทียบเคียงกับยาแผนปัจจุบันที่ช่วยบรรเทาการอักเสบที่มีชื่อว่า ฟีนิลบิวทาโซน (ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ข้อ เช่น รูมาตอยด์ เป็นต้น) พบว่า มีฤทธิ์ใกล้เคียงกันในการรักษาอาการอักเสบแบบเฉียบพลัน แต่จะมีฤทธิ์เพียงครึ่งเดียวในการรักษาอาการอักเสบแบบเรื้อรัง
มีการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูกและข้ออักเสบเรื้อรัง จำนวน 42 คน โดยใช้สมุนไพรที่มีส่วนประกอบของเหง้าขมิ้นพบว่า การได้รับสมุนไพรดังกล่าว สามารถลดความเจ็บปวดที่รุนแรงได้
3. ต้านการแพ้
ขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการต้านการแพ้ โดยการออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งของสาร histamine ของร่างกายเมื่อมีอาการแพ้
4. ลดการบีบตัวของลำไส้
จากการทดลองทางคลินิกกับคนไข้จำนวน 440 คน อายุเฉลี่ย 48.5 ปี โดยการให้ทานขมิ้นชันทุกวัน วันละ 162 มิลลิกรัม พบว่า ขมิ้นชันมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ และยังช่วยในการขับลมและแก้อาเจียนด้วย
5. ลดอาการแน่นจุกเสียด
มีการทดลองในผู้ป่วยโรคท้องอืดท้องเฟ้อในโรงพยาบาล 6 แห่ง จำนวน 160 คน โดยรับประทานครั้งละ 2 แคปซูลวันละ 4 ครั้ง พบว่าได้ผลดีกว่ายาขับลมและผู้ป่วยพอใจ ซึ่งน้ำมันหอมระเหยของขมิ้นเป็นสารออกฤทธิ์ในการขับลม
6. ขับน้ำดี
ขมิ้นชันสามารถออกฤทธิ์เพิ่มการขับและกระตุ้นการสร้างน้ำดีได้ ซึ่งน้ำดีเป็นสารสำคัญในกระบวนการช่วยย่อยและดูดซึมอาหารของร่างกาย
7. รักษาอาการท้องเสีย
ตามตำรายาพื้นบ้านของไทย มีการใช้ขมิ้นรักษาอาการท้องเสีย โดยนำผงขมิ้นชันผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนรับประทานหลังอาหารและก่อนนอน ครั้งละ 3-5 เม็ด วันละ 3 เวลา และในประเทศอินโดนีเซียก็มีการใช้ขมิ้นในการรักษาอาการอุจจาระร่วงเช่นกัน และขมิ้นชันขนาด 1000 มก./ครั้ง/วัน มีผลทำให้อาการท้องร่วงในลูกสุกรระยะดูดนมแม่หายไป
8. ต้านแบคทีเรีย
ทั้งสารสกัดขมิ้นชัน น้ำมันหอมระเหย สาร curcumin และอนุพันธ์มีฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรียชนิดต่างๆ เช่น
  • แบคเรียที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  • แบคทีเรียที่ทำให้เกิดเยื้อหุ้มฟันอักเสบ
  • แบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคท้องเสีย
  • แบคทีเรียก่อโรคในกุ้ง
  • แบคทีเรียที่ให้เกิดหนอง
9. ต้านยีสต์และเชื้อรา
ทั้งสารสกัดขมิ้นชัน น้ำมันหอมระเหย สาร curcumin และอนุพันธ์ มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและฆ่ายีสต์, เชื้อราชนิดต่างๆ เช่น
  • เชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง อย่างเช่น โรคกลาก
  • ยีสต์ที่มีชื่อว่า Candida albicans ซึ่งเป็นเชื้อโรคฉวยโอกาสของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เบาหวาน เอดส์ เป็นต้น
10. ต้านปรสิต
สารสกัดจากขมิ้นสามารถที่จะฆ่าเชื้ออะมีบา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคบิดมีตัวได้
11. ป้องกันตับอักเสบ
ขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการป้องกันตับอักเสบ
  • จากการทดลองในหนูขาวพบว่าขมิ้นชันสามารถป้องกันตับถูกทำลายจากใช้ยาพาราเซตามอล
  • จากการทดลองในหนูขาวพบว่า สาร curcumin จากขมิ้นสามารถป้องกันตับจากการถูกทำลายด้วยเอทานอล โดยเอทานอลจะทำให้ตับทำงานหนัก และทำให้การทำหน้าที่และระดับของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น แต่หลังจากที่หนูขาวได้รับสารสกัดขมิ้นชันร่วมกับการรับเอทานอลแล้ว ตับทำงานน้อยลง รวมถึงการทำหน้าที่และระดับของเอนไซม์ในตับลดลง (เอทานอลเป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่ทานได้ ซึ่งเหล้าก็เป็นเอทานอลแบบหนึ่ง)
12. ต้านการกลายพันธุ์ (ต้านมะเร็ง)
ขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านการกลายพันธุ์ ต้านสารก่อมะเร็งที่มีบทบาทสำคัญในโรคที่เกี่ยวกับเบาหวาน และโรคที่เกิดจากการเสื่อมของร่างกาย
13. ต้านความเป็นพิษต่อยีน
ขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการป้องกันความเสียหายของ DNA และต้านความเป็นพิษต่อยีน
14. มีสรรพคุณสมานแผล
ผงขมิ้นที่นำมาผสมกับน้ำแล้วทาลงบนแผลพบว่า ช่วยเร่งให้แผลที่ไม่ติดเชื้อของกระต่ายและหนูขาวหายได้ 23.3 และ 24.2% ตามลำดับ และสามารถเร่งให้แผลติดเชื้อของหนูขาวหายได้ 26.2%
การทดลองทางคลินิค โดยทายาสมุนไพรซึ่งมีขมิ้นเป็นส่วนประกอบที่ผิวหนัง พบว่ามีฤทธิ์ในการสร้างเซลล์ผิวขึ้นใหม่ มีผู้ทดลองใช้สาร curcumin จากขมิ้นในการรักษาแผลหลังผ่าตัด 40 ราย พบว่าให้ผลลดการอักเสบได้เหมือนฟีนิลบิวทาโซน การทดลองใช้ขมิ้นหรือยาปฏิชีวนะ ในการรักษาแผลผุพองในผู้ป่วย 60 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ขมิ้น และกลุ่มที่ให้ยาปฏิชีวนะ แล้วติดตามดูแผลพุพองหลังการรักษา 21 วัน พบว่าผู้ป่วยทุกรายหายจากโรค และไม่พบภาวะแทรกซ้อนหรือข้อแตกต่างระหว่างการใช้ขมิ้นและยาปฏิชีวนะ
มีการนำสารสกัดของขมิ้น มาพัฒนาตำรับเป็นครีมป้ายปาก แล้วทำการทดลองเพื่อสังเกตฤทธิ์ในการสมานแผล โดยทำการทดลองในอาสาสมัคร 30 คน พบว่าครีมป้ายปากที่มีสารสกัดขมิ้นชัน 1% มีผลทำให้แผลในปากหายภายใน 1 สัปดาห์
ที่มา http://www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/curcuma.html

สรุป

จะเห็นว่าขมิ้นชันมีสรรพคุณและประโยชน์ที่ดีต่อร่างกายในหลายแง่มุม อีกทั้งยังเป็นพืชสมุนไพรที่หาซื้อได้ง่ายและราคาถูก หากคนไทยหันมาบริโภคหรือกินขมิ้นชัน เพื่อรักษาตัวเองเชิงป้องกันก่อนที่จะเจ็บป่วยให้มากขึ้น แน่นอนว่า ประชากรไทยเราจะมีสุขภาพที่แข็งแรง และประเทศไทยของเราจะประหยัดเรื่องงบประมาณในการดูแลสุขภาพได้อีกมากครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น